หนี้ครัวเรือนพุ่ง ห่วงแห่กู้นอกระบบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์เริ่มกังวลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยมากขึ้น เพราะอาจก่อให้เกิดวิกฤติหนี้ครัวเรือนได้หลังจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 79% ต่อจีดีพี และจะเกิน 80% ได้ในเร็วๆนี้ ถือว่าน่าเป็นห่วงและอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจทรุดตัวในระยะกลางและยาวได้ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการป้องกัน ไม่ให้ประชาชนกู้เงินนอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยแพง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ

“จากการติดตามพบว่า ครัวเรือนรวมถึงธุรกิจรายย่อยจำนวนมากมีวงเงินเต็มเพดานการขอสินเชื่อแล้ว หรือแม้แต่การกู้เงินติดล้อก็ลำบาก เพราะไม่มีอะไรที่จะนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน รัฐบาลจำเป็นต้องหาแนวทางให้ประชาชนหรือนักธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลให้ได้ อย่างน้อยก็ประคองภาระหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ของกิจการได้ เช่น นำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า หรือนำไปใช้จ่ายประคองก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว เพราะหากคนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หลายคนคงแห่ไปกู้นอกระบบจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาแน่นอน”

สำหรับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุน การซื้อที่อยู่อาศัยและซื้อรถยนต์ หากเป็นช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจปกติ ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ปัจจุบันทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวแรงงานตกงานมากขึ้น หรือผู้ที่ทำงานก็จะถูกนายจ้างหักรายได้ ขณะที่แรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบปีละ 500,000 คน มีความเสี่ยง ไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะผู้ประกอบการไม่รับพนักงานเพิ่ม ทำให้ครัวเรือนมีปัญหารายได้ที่จะนำไปชำระหนี้ “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดไวรัสโควิด-19” วงเงิน 400,000 ล้านบาท และงบประมาณขาดดุลปี 63 ที่ตั้งไว้ 450,000 ล้านบาท รวมกว่า 850,000 ล้านบาทนั้น จะเป็นตัวชี้วัดว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หากมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ปัญหาหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจที่ทรุดตัวหนักในปี 63 จะคลี่คลายลงได้.

เครดิต : https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/1869036